เครื่องเลื่อยกล และงานเลื่อย
เครื่องกลึงและงานกลึง

เครื่องเลื่อยสายพาน

ยอดวิว 20.6k
news

เครื่องเลื่อยสายพาน

สรุปเนื้อหา

ตอนที่ 2 เครื่องเลื่อยสายพาน

2.1 เครื่องเลื่อยสายพานแนวนอน   


เครื่องเลื่อยสายพานแนวนอน (Horizontal Band Saw)

     เครื่องจะมีลักษณะการทำงานในแนวนอน ใบเลื่อยจะหมุนวนตัดชิ้นงานทุกฟัน สามารถปรับความเร็วของสายพานได้เพื่อให้เหมาะสมกับชิ้นงานการป้อนตัดชิ้นงานสามารถป้อนตัดด้วยระบบ ไฮดรอลิกส์ ก่อนนำใบเลื่อยมาใช้จะต้องนำมาตัดให้ได้ความยาวที่พอดีกับเครื่องเลื่อยนั้นๆ แล้วทำการเชื่อมต่อให้เป็นวง

ส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องเลื่อยสายพานแนวนอน

            1. ฐานเครื่อง (Base) เป็นส่วนรองรับน้ำหนักของเครื่อง

            2. แขนตั้งระยะงาน(Manual Work Stop) เป็นอุปกรณ์ตั้งระยะความยาวตัดชิ้นงานเท่า ๆ กัน จำนวนหลายชิ้น

            3. ถาดรองเศษโลหะ (Catch pan) ใช้เป็นชิ้นส่วนรองรับเศษโลหะและชิ้นงาน

            4. ฝาครอบล้อขับ (Drive-wheel guard)

            5. ฝาครอบล้อตาม (Idler wheel guard) 

            6. แขนปรับความตึงใบเลื่อย (Bank tensioning)

            7. แขนประคองใบเลื่อย (Saw-guide Arms)

            8. สวิตซ์ เปิด-ปิด (Switch ON-OFF)

2.2 เครื่องเลื่อยสายพานแนวตั้ง

     เครื่องเลื่อยสายพานชนิดนี้จะมีตัวเครื่องเป็นลักษณะในแนวตั้ง สามารถตั้งความเร็วของใบเลื่อยได้เช่นกัน การป้อนตัดจะป้อนตัดด้วยมือ โดยการป้อนชิ้นงานเข้าหาใบเลื่อย ใบเลื่อยจะมีขนาดให้เลือกใช้หลายขนาดขึ้นอยู่กับลักษณะงาน เช่น งานต้องการเลื่อยเป็นแนวโค้งก็ต้องใช้ใบเลื่อยที่มีขนาดเล็ก การเลือกใช้ขนาดใบเลื่อยขึ้นอยู่กับรัศมีงานที่จะเลื่อยว่ามีรัศมีความโค้งมากน้อยเพียงใด ก่อนนำใบเลื่อยมาใช้จะต้องนำใบเลื่อยมาตัดให้พอดีกับเครื่อง แล้วทำการเชื่อมใบเลื่อยด้วยชุดเชื่อมที่ติดมากับเครื่องก่อนทำการอบอ่อน (Annealing) ที่ติดมากับเครื่องเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการคลายความเครียดแนวเชื่อมไม่ให้ใบเลื่อยแตกหักขณะที่ใบเลื่อยดัดโค้งงออยู่บนล้อส่งกำลัง


เครื่องเลื่อยสายพานแนวตั้งสามารถใช้งานได้หลากหลายกว่าเครื่องเลื่อยสายพานแนวนอน ส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องเลื่อยสายพานแนวตั้งมีดังนี้

          1. ฐานเครื่อง (Base) เป็นส่วนที่ติดอยู่กับพื้นโรงงาน รองรับน้ำหนักทั้งหมดของตัวเครื่อง ภายในประกอบด้วยชุดส่งกำลังขับเคลื่อนใบเลื่อย ปั๊มลมทำหน้าที่จ่ายลมระบายความร้อนให้ชิ้นงานและใบเลื่อย และยังเป็นตัวเป่าให้เศษโลหะออกจากแนวเลื่อยทำให้เห็นเส้นที่ร่างแบบมาทำให้เลื่อยได้สะดวกขึ้น

          2. ชุดประคองใบเลื่อย (Saw guides) เป็นอุปกรณ์ประคองใบเลื่อย เพื่อบังคับใบเลื่อยให้วิ่งเป็นแนวตรง

          3. โต๊ะงาน (Table) เป็นส่วนที่ใช้รองรับชิ้นงานที่นำมาเลื่อย โดยทั่วไปสามารถเอียงเป็นมุมได้

          4. หัวเครื่อง (Head) เป็นที่ยึดของล้อตามและตัวประคองใบเลื่อยและโคมไฟแสงสว่าง

          5. ล้อหินเจียระไน (Grinder)   ใช้หรับเจียระไนตกแต่งแนวเชื่อม

          6. เสาเครื่อง (Column) เป็นส่วนที่ต่อจากฐานเครื่องเป็นแนวตั้ง เป็นส่วนที่รองรับชุดหัวเครื่อง ด้านหน้าของเสาเครื่อง จะมีชุดเชื่อมต่อใบเลื่อย และชุดอบอ่อนใบเลื่อย (Annealing) ติดอยู่เพื่อใช้ในการตัดต่อใบเลื่อย กรณีใบเลื่อยไม่คมจะต้องเปลี่ยนใบเลื่อยใหม่ เพราะใบเลื่อยที่ซื้อมาจะเป็นกล่องซึ่งมีความยาวมาก จะต้องตัดใบเลื่อยให้ได้กับระยะความยาวที่ต้องการใช้งาน

          7. ชุดต่อใบเลื่อย (Butt welder) ใช้สำหรับต่อใบเลื่อยในกรณีนำใบเลื่อยมาใช้ใหม่หรือกรณีเลื่อยชิ้นงานที่เป็นรูใน จะต้องเจาะ ชิ้นงานแล้วนำใบเลื่อยร้อยใส่แล้วนำใบเลื่อยมาเชื่อมต่อ

          8. มอเตอร์ (Motor) เป็นตัวต้นกำลังส่งกำลังไปยังล้อส่งกำลังเพื่อใช้ขับใบเลื่อยให้เคลื่อนที่ตัดชิ้นงาน